มาถึงตอนที่ 4 กับซีรี่ย์ "โรงพักเป็นจุดแตกหัก" คราวนี้ขอพูดในเรื่อง การช่วยราชการ ที่บรรดาหน่วยเหนือทั้งหลายมักจะเอากำลังพลของสถานีตำรวจไปช่วยราชการ ทำให้กำลังพลผู้ปฏิบัติงานขาดแคลน เกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มภาระแก่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ มาดูในรายละเอียดกันครับ
การช่วยราชการ หรือการสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง นั้นระดับ ผบก. ขึ้นไปมีอำนาจในขอบเขตตนเอง(ส่วนมากจะขอช่วยราชการกันในระดับ รอง ผกก. - ประทวน) เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้ง แน่นอนว่าย่อมต้องมีผู้ไม่พอใจ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ขอแยกประเภทการ ช่วยราชการไว้ดังนี้
- ประเภทคนดีมีฝีมือ และหน่วยเหนือมีความจำเป็นจริง ๆ : การช่วยราชการแบบนี้คือการนำคนเก่งของสถานีตำรวจ มาปฏิบัติหน้าที่กับส่วนกลาง เช่น เจ้าหน้าที่เทคโน , การเงิน , ศูนย์ 191 , สืบสวน , สอบสวน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้งานของหน่วยเหนือนั้นมีประสิทธิภาพขึ้นจริง แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ประสิทธิภาพของสถานีตำรวจนั้นด้อยลงไปด้วย ที่แปลกคือเวลาหน่วยเหนือมาตรวจงานประจำปี จะตำหนิผู้ปฏิบัติในข้อบกพร่องต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเอาคนเก่งของโรงพักไปแท้ ๆ
- ประเภทเด็กนาย เอาไปติดตาม : แบบนี้ถือว่าเสียกำลังพลไปฟรี ๆ จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ คนไปเฝ้าบ้านนายบ้าง ชงกาแฟบ้าง ทั้ง ๆ ที่ร่ำเรียนมามากมาย เสียดายความรู้และค่าตอบแทน หน่วยตำรวจไม่เหมือนทหาร ที่จะมีคนรับใช้ฟรี ๆ อย่างทหารเกณฑ์ มาให้โขกสับ หรือดูแลกันไปแม้เกษียณราชการไปแล้ว(แบบนั้นก็ผิดวัตถุประสงค์การเกณฑ์ทหาร แต่พี่ทหารเขาใหญ่ ใครจะทำไม)
ปัญหาและอุปสรรคของหน่วยปฏิบัติ หรือโรงพัก ก็ทราบ ๆ กันอยู่ว่าคือ งบประมาณ และ กำลังพล แต่บรรดานายพลทั้งหลายก็ยังไม่แก้ปัญหา กลับเพิ่มภาระ เพิ่มปัญหาให้กับโรงพักมากยิ่งขึ้น ด้วยการดึงกำลังพลที่มีไม่พออยู่แล้ว เอาไปใช้งาน โดยเฉพาะชั้นประทวน ที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อถึงวาระพิจารณาขั้นประจำปี รอบกลางปี ก็มีใบสั่งมาให้ขั้นกับผู้ที่ไปช่วยราชการอีก เพราะคำสั่งระบุไม่ให้ขาดจากต้นสังกัด จึงต้องมาแย่งเอาขั้นของโรงพัก ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานให้กับทางโรงพักเลยแม้แต่น้อย บั่นทอนขวัญ กำลังใจของพวกอยู่โรงพักเข้าไปอีก ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่าไปช่วยราชการ ตามนายดีกว่า สบายกว่า ได้ขั้นด้วย
เป็นอีกหนึ่ง "จุดแตกหัก" ของโรงพัก ที่สะท้อนให้ได้ทราบกัน ส่วนจะแก้ไขหรือไม่ อย่างไรนั้น เป็นเรื่องของนายพลครับ ผมไม่สามารถ เรื่องแบบนี้เชื่อว่ามีกันในทุกระดับไล่ตั้งแต่สำนักงาน ผบ.ตร. ลงมาถึง ระดับ ผบก. เลยก็ว่าได้
ซีรี่ย์ชุด "โรงพักเป็นจุดแตกหัก"
ตอนที่ 4 : ช่วยราชการ เอาทั้งตัว-ทั้งขั้น !
ตอนที่ 5 : คำขวัญตำรวจยุคโซเชี่ยล
ตอนที่ 5 : คำขวัญตำรวจยุคโซเชี่ยล
หมายเหตุ คำว่า "โรงพักเป็นจุดแตกหัก" นี่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนกล่าวไว้คนแรก แต่โดยรวม ๆ แล้ว หมายถึง สถานีตำรวจทั่วประเทศ เป็นจุดยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะนำนโยบายต่าง ๆ ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ และถือเป็นหน้าเป็นตาของตำรวจ ที่จะต้องพบปะกับประชาชนโดยตรงนั่นเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น