โรงพักเป็นจุดแตกหัก : เทศกาลเฝ้าถนน

ถึงช่วงเทศกาลไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ หรือสงกรานต์  ที่ประชาชน ข้าราชการส่วนใหญ่ได้เดินทางพักผ่อน  หรืออยู่สังสรรกับครอบครัว  เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ไม่สามารถจะหยุด หรือลา ได้  ต้องปฏิบัติงานกันมากกว่าการทำงานในช่วงปกติ  เพราะนอกจากจะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยที่ทำเป็นประจำแล้ว  ยังต้องมีการตั้งจุดตรวจจุดสกัด เพื่อกวดขันวินัยจราจร  และต้องคุมงานรื่นเริงต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลด้วย

     เริ่มจากการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ที่ส่วนมากจะใช้บริเวณหน้าตู้ยาม หรือที่พักสายตรวจ   ต้องจัดเตรียมโต๊ะ เก้าอี้ เต้นท์ พัดลม ยากันยุง เครื่องดื่มร้อน-เย็น ไว้บริการผู้ปฏิบัติงาน และประชาชน   จัดระบบไฟส่องสว่างเพิ่มเติม  สัญญาณไฟวับวาบ  กรวยยาง  กระบองไฟ  และอาหารสำหรับผู้ปฏิบัติงานวันละ 4 มื้อ(เพิ่มข้าวต้มมื้อดึก)  ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดไม่มีงบประมาณรองรับนะครับ  อุปกรณ์หลายอย่างอาจใช้ของเก่าได้บ้าง   นี่ยังไม่นับการจัดทำป้ายบอกทาง  ป้ายเตือนต่าง ๆ ที่หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงอย่าง แขวงการทาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ทำ  ก็กลายเป็นภาระของตำรวจอีก

     ในการตั้งจุดตรวจจุดสกัดดังกล่าวนั้น  มีหน่วยงานที่มาร่วมปฏิบัติหน้าที่เช่น ฝา่ยปกครอง อปท.  ก็มาใช้ทรัพยากรดังกล่าวร่วมกันบ้าง   อาจมีเจ้านายจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของตำรวจ หรือมหาดไทย มาตรวจเยี่ยมมอบกาแฟ เป็นกำลังใจบ้าง  ก็พอช่วยได้ครับ

     การรายงานยอดอุบัติเหตุนี่ เป็นอะไรที่วุ่นวายมาก เพราะข้อมูลมาจาก 3 ส่วน คือ ตำรวจ , โรงพยาบาล และ ป้องกันภัยพลเรือน  ยอดมักไม่ตรงกัน เช่น คนขี่รถล้มเอง ก็ไปโรงพยาบาลเอง  ตำรวจก็ไม่มีข้อมูล เป็นต้น  ตัดยอดรายงานตอนเที่ยงคืน ต้องอดหลับอดนอนตรวจสอบและส่งรายงานให้ถูกต้องทุกวัน

     ประเทศไทยนี่สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยนะครับ ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 6,985 ราย ส่วนในปี 2556 ก็มีผู้เสียชีวิตมากถึง 8,631 ราย  แน่นอนว่าผู้เสียชีวิตส่วนมากใช้รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกกันน็อค และขับเร็ว   ทุกรัฐบาลก็ตระหนักในเหตุดังกล่าวและกระตุ้นมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้กวดขันวินัยจราจร  พอตำรวจกวดขัน ประชาชนก็เกลียดตำรวจ หาว่าจับแต่คนหาเช้ากินค่ำ  ทำไมไม่ไปจับผู้ร้าย ฯลฯ    คือค่าหมวกกันน็อคนี่ถูกกว่าค่าปรับอีกนะครับ  ใส่เถอะ ขอร้อง

     วินัยจราจร สะท้อนวินัยคนในชาติ  จะเห็นได้ชัด ๆ เลยว่าคนไทยไม่เคารพกฎหมาย(รวมถึงตำรวจบางคนด้วย)  ถึงขนาดมีการเรียกร้องไม่ให้ตำรวจตั้งด่านกวดขันวินัยจราจร  นี่ก็ว่าแปลกแล้ว และที่ตลกก็คือ เจ้านายเราเสือกรับเอามาสั่งการอีก  ม็อบครองเมืองจริง ๆ กฎหมู่เหนือกฎหมาย  จะเอาอย่างนั้นก็ยกเลิกกฎหมายไปเลย  ไม่ต้องมีแล้วกฎจราจร  ตำรวจจราจรก็ไม่ต้องมี  ดูซิว่าจะเละเทะขนาดไหน

     ถ้าเคยไปประเทศที่เจริญแล้ว  จะได้เห็นว่าคนเขามีวินัย เคารพกฎหมาย กันขนาดไหน  อยากจะเจริญเหมือนเขา  เอามาแค่เปลือก คือวัตถุ  แต่สำนึกในเรื่องสิทธิ และเคารพกฎหมาย ไม่เอามาด้วย  มันก็ยุ่งอย่างนี้แหละครับ

     สำหรับท่านที่เดินทางแล้วพบเจอด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ก็กรุณาปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ความร่วมมือ และเห็นใจในการทำงานของตำรวจด้วยนะครับ  เขาทำงานเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดกับท่าน หรือคนที่ท่านรัก   นอกจากนี้ท่านยังสามารถแวะเข้าไปพักรถ พักคนที่จุดบริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้  ในจุดใหญ่ ๆ ถนนสายหลักนี่ ท่านสามารถเข้าไปขอกาแฟฟรี น้ำฟรี หรือเข้าห้องน้ำก็ได้นะครับ  ทุกแห่งยินดีให้บริการ




     จุดเริ่มต้นในการกวดขัน 7 วันอันตราย(ดัดจริตเปลี่ยนชื่อทุกปี)  เริ่มมาจากรัฐบาลนายกทักษิณ  ที่เห็นว่าคนไทยสูญเสียไปมากมายกับอุบัติเหตุทางถนน  เทศกาลแห่งความสุขกลับมีคนตายมากมาย  จึงได้เริ่มกวดขันวินัยจราจรกันมาตั้งแต่นั้น  เป็นเหตุให้ตำรวจต้องเหนื่อยมากขึ้นในช่วงวันหยุดเทศกาล  ถ้าผู้มีอำนาจ เกลียดระบอบทักษิณจริง ๆ ก็เลิกอันนี้ด้วยสิ  พวกผมจะได้พักผ่อนปีใหม่ สงกรานต์กับครอบครัวบ้าง

ปล. อาจารย์โก๋(พล.ต.ต.โกสินทร์  หินเธาว์  ท่านกล่าวไว้ประมาณว่า  เรื่องอุบัติเหตุทางถนน ไม่ควรอยู่กับ ป้องกันภัยพลเรือน  เพราะ ปภ. นี่น่าจะเอาไว้ทำเรื่อง ภัยพิบัติ  ภัยธรรมชาติ  อะไรพวกนั้นมากกว่า  จริง ๆ เรื่องอุบัติเหตุทางถนนควรอยู่กับ คมนาคม  เพราะเป็นเรื่องของ ถนน ที่คมนาคมรับผิดชอบโดยตรง  ซึ่งถนน เป็นหนึ่งในปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุ(ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุจราจร คือ คน-รถ-ถนน-สภาพแวดล้อม)  จะได้เป็นแม่งานในการแก้ไข  ตั้งงบได้เต็มที่  ตอนนี้มันเลย ผิดฝา ผิดตัว ไปหมด



ซีรี่ย์ชุด "โรงพักเป็นจุดแตกหัก"

ความคิดเห็น