มีรถเช่า อย่าลืมรถหลวง !

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ได้จัดหา "รถยนต์เช่า" มาใช้งานได้จะครบ 10 ปี ในเดือน ตุลาคม 2560 นี้(เช่ารอบละ 5 ปี)  ในขณะที่มีรถเช่านั้น ก็ยังมีรถยนต์ของทางราชการ หรือรถยนต์หลวง ที่ยังใช้งานอยู่จำนวนไม่น้อยที่มีสภาพเก่ามากกว่า 15 ปี และมีความจำเป็นในการใช้งาน ต้องซ่อมไปใช้ไปอยู่จำนวนไม่น้อยในแต่ละสถานี  ในส่วนของรถยนต์เช่านั้น  ก็คงจะเป็นการเช่าต่อในสัดส่วนเดิม คือ 1 สถานีตำรวจ  จะได้รถยนต์เช่า ดังนี้

  • รถยนต์กระบะ 2 ประตู + แคป สำหรับพนักงานสอบสวน 1 คัน
  • รถยนต์กระบะ 4 ประตู จำนวน 2 คัน
  • รถยนต์กระบะสำหรับงานสืบสวน 1 คัน
  • รถยนต์ตู้ 1 คัน
     และบางสถานีตำรวจจะได้เพิ่มเติม อาทิ รถยนต์ขนส่งผู้ต้องหา 6 ล้อ จำนวน 1 คัน , รถยนต์กระบะ 4 ประตู สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยว 1 คัน เป็นต้น

     จำนวนรถยนต์สำหรับปฏิบัติราชการก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี  เพราะบางหน่วยมีสายตรวจรถยนต์หลายเขตตรวจ  หรือสายตรวจตำบลที่มีปริมาณงานมาก ก็จำเป็นต้องมีรถยนต์สายตรวจ   รถยนต์หลวงหรือรถยนต์ของทางราชการ ที่มีอยู่เดิมนั้น มีสภาพไม่ต่ำกว่าสิบปี  ใช้ไปซ่อมไป  โดยไม่มีรถยนต์หลวงมาทดแทนนานแล้ว   สถานีตำรวจจะขอจำหน่ายก็เกรงว่าจะถูกตัดน้ำมันเชื้อเพลิง   จึงต้องจำใจใช้กันไปอย่างจะพังมิพังแหล่  งบซ่อมก็มีมาน้อยมากไม่พอจะซ่อมให้ดีได้




     การผูกรถยนต์หลวงไว้กับการเบิกน้ำมัน  มันทำให้หน่วยไม่กล้าทำจำหน่ายรถยนต์หลวงออกไป  เพราะถ้าจำหน่ายรถยนต์หลวงไปคันนึง น้ำมันเชื้อเพลิงจะหายไปประมาณ 6,000 บาท   ทางหน่วยเหนือก็อ้างว่าจะให้รถใหม่ไม่ได้ ถ้าไม่จำหน่ายคันเก่าเสียก่อน  แต่ทำไมกรณีรถจักรยานยนต์สามารถทำได้   หรือจะให้ดีก็ไม่ควรผูกน้ำมันไว้กับจำนวนรถของทางราชการ  เอาตามภารกิจ หรือจ่ายคงที่ ณ ปัจจุบัน  ให้เกิดความคล่องตัวในการเบิกจ่าย  เช่น บางภารกิจใช้รถยนต์ส่วนตัว ไปสืบสวน ไปอบรม ไปประชุม  มัวมาออกแผน ออกคำสั่ง  ยุ่งยากไม่ทันการ

     ยุคนี้จะปฏิรูปตำรวจกันอย่างเดียว  ไม่พูดเรื่องโรงพักเป็นจุดแตกหักกันแล้ว  ตรวจงานกันเยอะแยะ แต่ปัญหาของหน่วยปฏิบัติที่สะท้อนไป ไม่ได้รับการแก้ไข  ระดับบนเล่นเก้าอี้ดนตรีกัน  ระดับล่างก็ทนทุกข์กันต่อไปครับ

ซีรี่ย์ชุด "โรงพักเป็นจุดแตกหัก"

ความคิดเห็น